“ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมก็คือ การสร้างบริษัทที่มอบสวัสดิการที่ดีแก่พนักงาน ในแบบที่พ่อของผมไม่เคยได้รับมาก่อนตอนที่ท่านทำงาน” ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ กล่าว
ทุกวันนี้ สตาร์บัคส์คือผู้นำธุรกิจของโลกในด้านเจ้าตำนานแห่งร้านกาแฟที่เน้นเฉพาะกาแฟชั้นเยี่ยม และบุคคลเบื้องหลังความสำเร็จที่ถือเป็นตำนานของยุคสมัยก็คือ ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ ประธานและซีอีโอของ สตาร์บัคส์ คอร์ป เขาได้เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง โดยปฏิวัติวงการด้วยการเสิร์ฟกาแฟคัดสรรคุณภาพเยี่ยมไปพร้อมๆ กับสร้างบรรยากาศอันรื่นรมย์ของคืนวันแห่งอดีต
ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ เกิดในย่านบูคลิน นิวยอร์ค เมื่อปี 1953 และเติบโตในย่านเบย์ วิว ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ในวัยเยาว์พ่อแม่ของชูลท์ซทำงานรับจ้างรายวันและต้องใช้ชีวิตอย่างขัดสน หลังจากที่พ่อของเขาข้อเท้าแตกจนไม่อาจทำงานขับรถส่งของได้อีกต่อไป ด้วยภาวะที่ไม่มีประกันสุขภาพหรือสวัสดิการคุ้มครองใดๆ ครอบครัวของเขาจึงมีรายได้เพียงพอแค่ซื้ออาหารประทังชีวิตไปวันๆ เท่านั้น
ในช่วงมัธยมชูลท์ซโดดเด่นด้วยทักษะทางกีฬาและได้รับทุนการศึกษาสำหรับนักกรีฑาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยนอร์ธ เทิร์น มิชิแกน ในปี 1971 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการสื่อสารมวลชน ในระหว่างเรียนเขาทำงานเป็นพนักงานขายที่ซีร็อกซ์ คอร์ปอเรชั่น ต่อมาในปี 1979 เขาทำงานในตำแหน่งบริหารที่ฮัมเมอร์พลาสต์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและเครื่องทำกาแฟแบบแยกกากจากสวีเดน
ที่ฮัมเมอร์พลาสต์ ชูลท์ซสะดุดใจในบริษัทจำหน่ายเมล็ดกาแฟเล็กๆ ในซีแอตเติ้ลที่ชื่อว่า สตาร์บัคส์ บริษัทนี้ซื้อเครื่องผลิตเอสเปรสโซ่จากฮัมเมอร์พลาสต์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ด้วยความกระหายใคร่รู้เขาบินไปถึงซีแอตเติลเพื่อรู้จักสตาร์บัคส์ด้วยตัวเอง สตาร์บัคส์ก่อตั้งในปี 1971 ขายเมล็ดกาแฟคั่วบดสดใหม่คุณภาพดี ขายชา เครื่องเทศ และอุปกรณ์ทำกาแฟสารพัดชนิด ที่นั่นชูลท์ได้พบ เจอร์รี บัลด์วิน กอร์ดอน บาวเกอร์ และ เซฟ ซีเกล ผู้ก่อตั้งสตาร์บัคส์ เขาก็จมอยู่ในห้วงแห่งความลุ่มหลงของโลกกาแฟอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ชูลท์ซยังคงจำครั้งแรกที่ก้าวสู่สตาร์บัคส์ได้ว่า “ถึงมันจะฟังดูฝันเฟื่องไปสักหน่อยก็เถอะ แต่เมื่อผมเดินเข้ามาในร้านครั้งแรกผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้าน มันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้แต่ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่พิเศษ สิ่งต่างๆ ในร้านกำลังพูดกับผม”
ในปีต่อมา ชูลท์ซเข้าทำงานที่สตาร์บัคส์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายค้าปลีกและการตลาด จากนั้นในปี 1983 ขณะเดินทางเพื่อจัดซื้อสินค้า สิ่งที่เขาพบที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในมิลาน อิตาลี ทำให้เขารู้แจ้งเห็นกระจ่างถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีต่อกาแฟและร้านกาแฟ ร้านกาแฟไม่ได้แค่ขายกาแฟแต่ยังเป็นสถานที่พบปะของผู้คนในชุมชน เขาอยากสร้างสถานที่บรรยากาศเดียวกันนี้ที่สตาร์บัคส์ ชูลท์ซไม่รอช้าที่จะขยายไอเดียใหม่นี้ให้แก่ผู้ก่อตั้งได้รับรู้ ด้วยเชื่อว่านี่คือหนทางสู่อนาคตของสตาร์บัคส์ แต่ไม่มีใครกระตือรือร้นกับไอเดียสุดบรรเจิดของเขานัก ชูลท์ซยังคงยืนยันแน่วแน่จนพวกเขายอมให้ชูลท์ซเปิดร้านกาแฟในพื้นที่ของร้านสาขาใหม่ในซีแอตเติ้ล แม้กิจการร้านกาแฟจะประสบความสำเร็จในข้ามคืน บรรดาผู้ก่อตั้งก็ยังไม่คิดว่านี่คือทิศทางที่พวกเขาอยากจะไป
ชูลท์ซออกจากสตาร์บัคส์ในปี 1985 เพื่อไล่ตามฝันของเขาเปิดร้านกาแฟชื่อ อิล จิออร์นาเล (il Giornale – การเดินทาง) ร้านได้รับความนิยมแต่ก็ยังขาดเงินทุนที่จะขยายกิจการตามที่เขาตั้งใจไว้ สองปีต่อมาบัลด์วินและบาวเกอร์ขายร้านสตาร์บัคส์สาขาแรกในซีแอตเติลให้ชูลท์ซเพื่อนำเงินไปธุรกิจอื่น และด้วยความช่วยเหลือจากนักลงทุนในซีแอตเติล ชูลท์ซก็สามารถซื้อกิจการร้านดังกล่าวได้ในราคา 3.8 ล้านเหรียญ เขาควบร้านนี้เข้ากับร้านของเขาและเรียกว่ามัน สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ คัมปานี
ในช่วงเวลานั้น ร้านกาแฟที่ขายแต่กาแฟคุณภาพสูงอย่างเดียวไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายนักในอเมริกา แต่ชูลท์ซยังคงไม่ลดละ เขาเพิ่มเมนูให้หลากหลายด้วยการนำเสนอกาแฟสดแบบธรรมดาเคียงคู่ไปกับเอสเปรสโซ่ คาปูชิโน่ ลาเต้ กาแฟเย็น และ ม็อคค่า และทุ่มเทสร้างบรรยากาศอันน่าอภิรมย์เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย เหมาะสำหรับสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนและดื่มด่ำกับกาแฟในแบบที่ตัวเองชื่นชอบ
ในขณะที่สตาร์บัคส์ก้าวไปข้างหน้า ชูลท์ซยังยึดมั่นในสิ่งหนึ่งไม่เคยเปลี่ยนคือ พนักงานของเขาจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับนับถือ พร้อมทั้งมีสวัสดิการที่เหมาะสม เมื่อหวนรำลึกถึงวัยเด็กที่พ่อของเขาไม่มีประกันสุขภาพหรือสวัสดิการใดๆ ซึ่งเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อผลร้ายที่เกิดขึ้นต่อครอบครัว ทำให้เขาอยากจะเป็นฝ่ายให้เพื่อมิให้ผู้อื่นต้องประสบกับภาวะยากแค้นดังที่เขาเคยพบมา เขาเพิ่มสวัสดิการสุขภาพให้พนักงานทุกคนรวมทั้งหุ้นปันผลด้วย ผลจากการกระตุ้นให้คนในองค์กรทุ่มเทกับการทำงานและยกระดับการบริการลูกค้าทำให้สตาร์บัคส์มีอัตราการลาออกน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มฟาสฟู้ดต้องเผชิญ ชูลท์ซเป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทอันเนื่องมาจากการมอบสวัสดิการดังกล่าวให้พนักงาน
แม้จะเติบโตเกินกว่าใครจะตามทันในทศวรรษที่ 1990 จนทุกวันนี้ ชูลท์ซก็รักษาเป้าหมายหลักของเขาคือ “กาแฟทุกแก้วคือการให้บริการที่ยิ่งใหญ่ และการสร้างบริษัทด้วยจิตวิญญาณ” ปัจจุบันสตาร์บัคส์คือเจ้าแห่งธุรกิจกาแฟของโลก มีร้านสาขาถึง 20,891 ร้าน ใน 62 ประเทศ แม้จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เขายังยึดมั่นในคุณค่าที่เขายึดถือมาตั้งแต่ต้นคือ ปฏิบัติกับลูกจ้างและชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีและยืนหยัดที่จะรักษาสิ่งนี้ให้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของสตาร์บัคส์
ที่มา : JobStreet.com
———————————————–
บทความที่น่าสนใจ
บริษัทยักษ์ใหญ่ของอาเซียน 100 อันดับแรก
การเตรียมตัวธุรกิจไทยเพื่อเข้าสู่ AEC